ประวัิติ มหาวิทยาลัยพะเยา


ในปี พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยนเรศวรได้จัดทำโครงการกระจายโอกาสทางการศึกษาสู่จังหวัดพะเยาขึ้น ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น ให้ก่อตั้งเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยนเรศวรเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ที่ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยให้ใช้ชื่อว่า "วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา" และเริ่มเปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2542
ในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2550 คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยนเรศวรได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา เป็น "มหาวิทยาลัยนเรศวร พะเยา" เพื่อเตรียมยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศในอนาคตต่อไป หลังจากนั้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ.... เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552[4] และในวันที่12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553 ขึ้น และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 ตามลำดับ
มหาวิทยาลัยพะเยา ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่กา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีพื้นที่ประมาณ 5,700 ไร่



ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยพะเยา

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยพะเยา

       ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยพะเยา มีลักษณะเป็นรูปสัตภัณฑ์สีขาว บนพื้นหลังรูปศิลาจารึกยอดกลีบบัวสีม่วง เหนืออักษรย่อ “มพ” สีม่วง ซึ่งเป็นตัวอักษรฝักขามล้านนา ด้านล่างของอักษรย่อ มีชื่อมหาวิทยาลัยพะเยา        สีม่วง และชื่อภาษาอังกฤษ UNIVERSITY OF PHAYAO สีขาวบนพื้นแถบโค้งสีทอง

ตราสัญลักษณ์มหาวิทยาลัยพะเยา แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ

1. กรอบพื้นหลังสีม่วง 
       รูปร่างอ้างอิงมากจากหลักศิลาจารึกในสมัยโบราณที่ค้นพบในเมืองพะเยา ซึ่งเมืองพะเยาเป็นแหล่งที่ค้นพบหลักศิลาจารึกมากที่สุดในประเทศไทย “เปรียบได้ว่าเมืองพะเยาเป็นแหล่งวิทยาการมาตั้งแต่โบราณ”
2. สัตภัณฑ์ (เชิงเทียนทั้ง 7 )
       สัตภัณฑ์ เป็นของใช้ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของล้านนา ยอดทั้ง 7 ของสัตภัณฑ์ เป็นเชิงเทียนสำหรับจุดบูชาพระพุทธเจ้า ก่อนเริ่มประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่นเดียวกับโต๊ะหมู่บูชาในปัจจุบัน
       ยอดทั้ง 7 หมายถึงเขาสัตบริภัณฑ์ทั้ง 7 ชั้น ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งยอดเขาพระสุเมรุ เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่ประทับของพระอินทราธิราชเจ้า และเป็นที่ประดิษฐานพระเกศแก้วจุฬามณี(พระเกศา) และพระเขี้ยวแก้วของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ เปรียบดังพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางจักรวาล สูงสุดของสรรพสิ่ง
       อีกนัยหนึ่ง สัตภัณฑ์ทางพุทธศาสนา ยังเป็นสัญลักษณ์ขององค์แห่งธรรมอันเป็นเครื่องตรัสรู้ หรือบรรลุอรหัตผล 7ประการหรือโพชฌงค์ 7 จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งพระธรรม หรือปัญญารู้แจ้ง
"เปรียบได้กับภูมิประเทศของมหาวิทยาลัยพะเยาที่เป็นดั่งดินแดนสวรรค์ แวดล้อมไปด้วยทิวเขาเป็นชั้นๆ
เป็นดินแดนแห่งความสุข และเป็นศูนย์รวมแห่งปัญญาความรู้"
3. อักษรย่อ มพ.
       ย่อมาจาก "มหาวิทยาลัยพะเยา" โดยรูปแบบอ้างอิงมาจากตัวอักษรโบราณที่จารึกลงบนแผ่นศิลาจารึกที่ค้นพบในเมืองพะเยา อักษรมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากอักษรธรรมล้านนาและอักษรสุโขทัย ซึ่งเรียกกันว่า "ตัวอักษรฝักขามล้านนา"
ข้อมูลอ้างอิง
  • ภาพถ่ายประกอบและออกแบบสัญลักษณ์โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาวิน อินทรังษี ( รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร )
  • หอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ
  • คุณนริศ ศรีสว่าง ( โครงการจัดตั้งสถาบันศึกษาและสืบสานศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมล้านนา ( ไต ) )
เรียบเรียงโดย
      งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยพะเยา
ที่มา http://www.pyo.nu.ac.th/logo.php